หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

พ.ศ.2439 ห้ามชาวบ้านชักพระ | สงขลา
11 ตุลาคม 2560 | 12,243

เพิ่งผ่านพ้นวันออกพรรษาไปเพียงไม่กี่วัน วันนี้ทาง HatyaiFocus มีเรื่องราวดี ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษามานำเสนอ หากคุณมีพื้นเพอยู่ในภาคใต้ จะต้องรู้จักประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ประเพณีชักพระ (สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียตามลัทธิของศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมนำเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาชาวพุทธศาสนิกชน ได้นำมาดัดแปลงให้เข้ากับศาสนาพุทธ) ในวันนี้แต่ละวัดจะมีการสร้างเรือพระ เพื่อนำไปแห่เรือพระ ซึ่งมีการนำพระพุทธรูปมาแห่แทนพระพุทธองค์ เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญ

ข้ามกันมายังปี 2560 บางพื้นที่ในจังหวัดสงขลามีการงด ‘ประเพณีการชักพระ’ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับการถวายความไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เฉกเช่นกับครั้งหนึ่งเมื่อ 121 ปีที่แล้ว มีการประกาศไม่ให้ชักพระ แต่สาเหตุมาจากการทะเลาะกันของชาวบ้านหญิงชายเเขวงเมืองปละท่า (อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาปัจจุบัน) เรื่องดังกล่าวทราบไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา คือ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย

พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) 

ข้อความการห้ามชักพระในกรณีนี้ประกาศอยู่ในเอกสารราชการมณฑลนครศรีธรรมราช สมัยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เรื่อง จัดราชการเมืองสงขลา วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2439 ความว่า "อนึ่งราษฏรเมืองสงขลานิยมนับถือในการแห่พระ ถึงระดูเดือน 11 ชวนกันอารธนาพระพุทธรูปลงตั้งบนรถแห่ไปตามถนนทุก ๆ ปี ถือกันว่าทำให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์ แต่การที่เปนมาเเล้ว มักจะเกิดเหตุวิวาทกันเสมอทุก ๆ ราย ด้วยวิธีลากนั้นเปนช่องให้เกิดการวิวาท คือ มีเชือกลาก ๒ สาย สายหนึ่งสำหรับผู้หญิง อีกสายหนึ่งสำหรับผู้ชาย ครั้นเมื่อลากพระเฮฮากันไป สายเชือกก็เบือดเสียดกันเข้าไป หรือบางทีพวกข้างผู้ชายจะแกล้งกระทบกระเทียบสายผู้หญิงก็ถือหางเชือกชิดไป ผู้หญิงที่หลักไม่ดีล้มลงบ้าง ก็ย่อมเปนที่โทมนัศน้อยใจของพวกผู้ชายที่เปนญาติพี่น้อง ก็เกิดวิวาทขึ้น ผู้ว่าราชการเมืองจึงออกหมายประกาศห้ามให้เลิกการลากพระเสียตลอดเมืองสงขลาหลายปีมาเเล้ว เเต่ราษฎรยังมีความปรารถนาดีเสมอ ครั้นข้าพระพุทธเจ้าไปคราวนี้ ต่างคนต่างมาร้องขออนุญาตที่จะลากพระดังที่เคยได้มาเเต่ก่อน "

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภายหลังจึงมีการอนุญาตให้ลากพระขึ้น เเต่มีขอบเขตกำหนดมาตราการขึ้น มีการจำกัดบริเวณการลากพระ มีการควบคุมเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านเอง "เเต่ที่จะให้เเห่นั้นยอมให้เเห่ที่ตำบลละวัด ไม่ให้เเห่เพรื่อไปทุกวัดเหมือนเเต่ก่อน เวลาที่เเห่ให้เเต่งกรมการไปคอยคุมอีกชั้นหนึ่ง เเลเชือกที่จะลากนั้นมีไม้ขวางกลางเสียให้เชือกกางออกไป อย่าให้ผู้หญิงกับผู้ชายเบียดเสียดกันเข้าไปได้ เเลให้มีนายบ้านตรงกลางระหว่างเชือกด้วยอีกชั้นหนึ่ง"

จะเห็นได้ว่าการชักพระเป็นประเพณีเเละวัฒนธรรมท้องถิ่นทางภาคใต้ที่สำคัญ นอกจากความสวยงามของเรือพระแล้ว ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีลากพระ ทั้งการได้ร่วมกันทำบุญ การได้กลับมาพบปะญาติมิตร ทั้งหมดนี้คือสิ่งดีงามของวัฒนธรรมภาคใต้ที่ทรงคุณค่า

ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว จังหวัดสงขลา , legendofmahavajiravudh , surat foto

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง